3.1 สัญลักษณ์แบบจุดของลิวอิสและกฎออกเตต
จากการศึกษาเรื่องอะตอมและสมบัติของธาตุทำให้ทราบว่า เวเลนซ์อิเล็กตรอนเป็นอิเล็กตรอนที่อยู่ในระดับพลังงานสูงสุดหรือชั้นนอกสุดของอะตอม เช่น ธาตุคาร์บอนมีการจัดเรียงอิเล็กตรอนในระดับพลังงานย่อยเป็น 1s² 2s² 2p² ดังนั้น คาร์บอนมีเวเลนซ์อิเล็กตรอนเท่ากับ 4 ทั้งนี้การเกิดพันธะเคมีเกี่ยวข้องกับเวเลนซ์อิเล็กตรอนของคู่อะตอมที่ร่วมสร้างพันธะกัน
เวเลนซ์อิเล็กตรอนของธาตุอาจแสดงด้วยจุดสัญลักษณ์ที่แสดงธาตุและเวเลนซ์อิเล็กตรอนของธาตุเรียกว่า สัญลักษณ์แบบจุดของลิวอิส (lewis dot symbol) ซึ่งเสนอโดย กิลเบิร์ต นิวตัน ลิวอิส
สัญลักษณ์แบบจุดของลิวอิสใช้จุดแสดงจำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนรอบสัญลักษณ์ของธาตุดังรูป โดยเขียนจุดเดี่ยวทั้ง 4 ด้านรอบสัญลักษณ์ธาตุก่อน แล้วจึงเติมจุดให้เป็นคู่
ธาตุต่างๆส่วนใหญ่ไม่เสถียรในรูปอะตอมเดี่ยวยกเว้นธาตุในหมู่ VIIIA (หมู่ 18) หรือเรียกว่าแก๊สมีสกุลที่พบอยู่ในรูปอะตอมเดี่ยว ซึ่งมีจำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนเท่ากับ 8 ยกเว้นฮีเลียมซึ่งมี 2 เวเลนซ์อิเล็กตรอน
นอกจากนี้นักเคมียังพบว่า อะตอมของธาตุอื่นๆมีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันเพื่อที่จะทำให้แต่ละอะตอมมีเวเลนซ์อิเล็กตรอนเท่ากับ 8 จึงมีการสรุปเป็นหลักการที่เรียกว่า กฎออกเตต (octet rule)สารที่ไม่อยู่ในรูปอะตอมเดี่ยว มีพันธะเคมีระหว่างอะตอมหรือไอออน โดยที่อะตอมของธาตุอาจมีการให้อิเล็กตรอน รับอิเล็กตรอน หรือใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน ทำให้เกิดพันธะเคมี 3 ได้แก่ พันธะไอออนิกพันธะโคเวเลนต์ และพันธะโลหะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น